ปัจจุบันการรักษาภาวะมีบุตรยากหลายวิธีถูกนำมาใช้เพื่อช่วยคู่รักที่ประสบความลำบากในการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ หนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด และเป็นตัวเลือกที่ไม่ได้อาศัยเทคโนโลยีสูงคือการฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก หรือ IUI (Intrauterine Insemination)
วิธีนี้จะเป็นการฉีดอสุจิที่สุขภาพดีเข้าโพรงมดลูกโดยตรงในช่วงเวลาที่ฝ่ายหญิงกำลังตกไข่ ทำให้อสุจิเข้าใกล้ไข่ที่ถูกปล่อยออกมามากขึ้น เพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิและการฝังตัวของตัวอ่อน
นั่นหมายความว่าวิธีนี้จะช่วยลดเวลาและระยะทางที่อสุจิจะเคลื่อนตัวไปพบไข่ ทำให้การปฏิสนธิเกิดได้ง่ายขึ้น โดยฝ่ายหญิงมักได้รับยาช่วยในการเจริญพันธุ์เพื่อกระตุ้นการตกไข่
ทำไมจึงทำ IUI?
IUI เป็นวิธีแนะนำในหลายสถานการณ์ที่คู่รักมีปัญหากับการพยายามตั้งครรภ์ เหตุผลส่วนหนึ่งมีดังต่อไปนี้
- ภาวะมีบุตรยากแบบอธิบายไม่ได้ – เป็นสถานการณ์ที่ ณ ขณะนั้นไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนว่าเหตุใดคู่รักจึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ หากทั้งสองคนมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดีแต่ยังใช้เวลานานเกินไปในการตั้งครรภ์ IUI จะเป็นตัวเลือกแรกในการรักษาควบคู่ไปกับการใช้ยากระตุ้นการตกไข่เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
- การใช้อสุจิแช่แข็ง – หากฝ่ายชายทำการแช่แข็งอสุจิ บางครั้งอาจมีสาเหตุจากการทำหมัน การรักษาโรคมะเร็ง หรือปัจจัยอื่น ๆ วิธี IUI อาจถูกนำมาใช้เพื่อให้ฝ่ายหญิงได้ตั้งครรภ์ลูกแท้ ๆ ของพวกเขา
- อสุจิบริจาค – หากคู่รักฝ่ายชายไม่สามารถผลิตอสุจิที่มีสุขภาพดีได้เนื่องจากตรวจไม่พบตัวอสุจิในน้ำอสุจิ หรือปัจจัยทางสุขภาพอื่น ๆ คู่รักนั้นอาจตัดสินใจใช้อสุจิบริจาค เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกันหากฝ่ายหญิงไม่มีคนรักเพศชาย ดังนั้นอสุจิบริจาคจะถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้ผู้หญิงเหล่านี้ตั้งครรภ์
- ภาวะมีบุตรยากเนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือปัจจัยด้านการตกไข่ – หากฝ่ายหญิงมีภาวะมีบุตรยากอันเกี่ยวเนื่องมาจากปัญหาด้านการตกไข่ สามารถใช้ยาเพื่อกระตุ้นการผลิตไข่ที่สุขภาพดีควบคู่กับการทำ IUI เพื่อให้ตั้งครรภ์ได้
- การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ – หากฝ่ายชายมีความยากลำบากในการทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวและรักษาภาวะแข็งตัวในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ สิ่งนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาในการตั้งครรภ์ได้ ในกรณีนี้ อสุจิสามารถเก็บได้จากตัวอย่างน้ำอสุจิและฉีดเข้าโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงโดยตรงได้เลย
- แพ้อสุจิ – มีกรณีที่พบได้ยากเมื่อผู้หญิงมีอาการแพ้โปรตีนในน้ำอสุจิและทรมานกับอาการเช่น บวม แดง แสบร้อนที่อวัยวะเพศ ทำให้คู่รักเหล่านั้นเลือกที่จะมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัย กระบวนการ IUI จะช่วยแยกอสุจิออกจากน้ำเชื้อและนำไปฉีดเข้าโพรงมดลูกโดยตรง ดังนั้นฝ่ายหญิงจึงสามารถตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีอาการแพ้
วิธีการทำงานของ IUI
ตัวอย่างน้ำอสุจิจะถูกเก็บจากคู่รักฝ่ายชาย ผู้บริจาค หรือจากตัวอย่างที่แช่แข็งไว้ และนำไปผ่านกระบวนการปั่นล้าง (sperm washing) ซึ่งทำให้สามารถเก็บอสุจิที่สุขภาพดีได้ในปริมาณมากขึ้น กระบวนการนี้จะกำจัดองค์ประกอบที่ไม่ใช่อสุจิและอสุจิคุณภาพต่ำออกไปจากตัวอย่างน้ำเชื้อ
สำหรับฝ่ายหญิงจะมีการตรวจเพื่อระบุวันที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการตกไข่ ซึ่งสามารถทำได้โดยการอัลตราซาวด์หรือใช้ชุดตรวจไข่ตกที่จะตรวจจับระดับฮอร์โมนลูทิไนซิง (luteinizing hormone: LH) ฝ่ายหญิงอาจได้รับยามารับประทานหรือฉีดเพื่อช่วยกระตุ้นการตกไข่ โดยยานี้ควรได้รับก่อนจะเริ่มกระบวนการ
เมื่อตรวจการตกไข่สำเร็จแล้ว แพทย์จะจัดทำตารางเวลาสำหรับกระบวนการ IUI ในระหว่างกระบวนการนี้ ขวดที่บรรจุอสุจิสุขภาพดีจะเชื่อมต่อกับสายสวน สายสวนจะถูกสอดเข้าไปในอวัยวะเพศของฝ่ายหญิงโดยผ่านปากมดลูกเข้าไปถึงโพรงมดลูก จากนั้นอสุจิที่สุขภาพดีจะถูกผลักออกผ่านหลอดและเคลื่อนที่เข้าสู่โพรงมดลูก และสายสวนจะถูกถอดออก
ฝ่ายหญิงจะต้องรออย่างน้อยสองสัปดาห์ก่อนจะใช้ชุดตรวจครรภ์เพื่อความมั่นใจว่ากระบวนการสำเร็จ และอีกสองสัปดาห์หลังจากนั้นจะมีการตรวจเลือดเพื่อยืนยันว่าฝ่ายหญิงได้ตั้งครรภ์จริง
อะไรที่ส่งผลให้ IUI สำเร็จ?
มีสามปัจจัยเบื้องต้นที่ส่งผลต่อความสำเร็จของ IUI ซึ่งได้แก่ สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก จังหวะเวลา และอายุ
สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
สาเหตุที่ทำให้คู่รักไม่สามารถตั้งครรภ์สามารถส่งผลต่อความสำเร็จของกระบวนการ IUI ได้ ในกรณีของภาวะมีบุตรยากที่อธิบายไม่ได้ คู่รักมักจะมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดีแต่ดูเหมือนจะตั้งครรภ์ไม่ได้ อัตราสำเร็จของ IUI คือ 7%-10% ต่อครั้ง และจะเพิ่มขึ้นเป็น 15%-25% หากใช้ยาที่ช่วยด้านการเจริญพันธุ์ควบคู่ไปด้วย
หากปัญหาอยู่ที่ภาวะมีบุตรยากในเพศชาย อัตราสำเร็จของ IUI จะอยู่ที่ประมาณ 16.9% หากฝ่ายหญิงมีภาวะท่อนำไข่ตีบตัน อัตราสำเร็จของ IUI จะอยู่ระหว่าง 11.7%-38.1% ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ตีบตัน หากตำแหน่งยิ่งใกล้กับโพรงมดลูก โอกาสที่จะสำเร็จก็จะยิ่งมากขึ้น
จังหวะเวลา
จังหวะเวลาเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับ IUI แพทย์จำเป็นต้องมั่นใจว่าติดตามการตกไข่ได้อย่างถูกต้องและลงมือปฏิบัติการในเวลาที่มีโอกาสสูงสุดที่อสุจิและไข่จะมาเจอกันอย่างรวดเร็ว สำหรับจังหวะเวลาแล้ว อัตราสำเร็จของ IUI สามารถลดลงได้หาก:
- ฝ่ายหญิงมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- ฝ่ายหญิงเป็นโรคเกี่ยวกับท่อนำไข่
- ฝ่ายหญิงมีภาวะท่อนำไข่ตีบตันหรือมีการตัดท่อนำไข่
- ฝ่ายหญิงมีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
- ฝ่ายชายไม่สามารถผลิตอสุจิได้
แม้ฝ่ายชายจะไม่มีอสุจิ ก็ยังสามารถทำ IUI ได้โดยใช้อสุจิบริจาคหรือตัวอย่างอสุจิแช่แข็ง แต่หากในสถานการณ์ข้างต้นแพทย์เห็นว่าโอกาสสำเร็จต่ำ แพทย์อาจแนะนำการรักษาวิธีอื่น เช่น IVF
นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับจังหวะเวลาคือมีงานวิจัยที่พบว่าผู้หญิงที่นอนต่อไปอีก 15 นาทีหลังกระบวนการ IUI มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีก 10% ในการตั้งครรภ์เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ลุกขึ้นทันทีหลังเสร็จสิ้นกระบวนการ
อายุ
โอกาสในการตั้งครรภ์มีแนวโน้มที่จะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงมีจำนวนไข่ที่จำกัดและคุณภาพไข่ที่ลดลงเรื่อย ๆ โดยสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้หญิง
- สำหรับผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 35 ปี อัตราสำเร็จของ IUI คือ 13%
- สำหรับผู้หญิงที่อายุ 35-37 ปี อัตราสำเร็จของ IUI คือ 10%
- สำหรับผู้หญิงที่อายุ 38-40 ปี อัตราสำเร็จของ IUI คือ 9%
- สำหรับผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปี อัตราสำเร็จของ IUI คือ 3%-9%